วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

คนแห่ร่วมงานเทศกาลกินเจ และกราบไหว้เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ศาลเจ้าหน้าผา จังหวัดนครสวรรค์ ล้นหลาม

คนแห่ร่วมงานเทศกาลกินเจ และกราบไหว้เจ้าพ่อ-เจ้าแม่

ศาลเจ้าหน้าผา  จังหวัดนครสวรรค์ ล้นหลาม



       ดร.พีรพงษ์ นพนาคีพงษ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมงานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพประจำปี 2563-2564
 และประธานจัดงานถือศีลกินเจ ศาลเจ้าแม่หน้าผา ประจำปี2563 กล่าวว่า การจัดงานถือศีลกินเจ ศาลเจ้าแม่หน้าผา ประจำปี 2563 ปีนี้มีคนเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคึกคักตั้งแต่วันแรกที่เปิดงานจนถึงวันสุดท้ายของงาน เพราะเป็นการจัดเทศกาลกินเจที่ยิ่งใหญ่ เพื่อชักชวนให้ชาวตลาดปากน้ำโพและจังหวัดใกล้เคียงจะได้มีสถานที่กินเจเต็มกำลัง ให้ทุกคนละเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ หันมากินผัก เพื่อสร้างบุญสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ ทุกคนจะได้กินอาหารเจที่มีคุณภาพ เพราะเราได้จ้างกุ๊กมือดีมาปรุงอาหาร ให้ทุกคนได้ทานอาหารอร่อย มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะอนามัย รวมทั้งภาชนะต่างๆ เช่น ถ้วย ชาม ช้อนส้อม ทำความสะอาดเรียบร้อย



และปีนี้มีวิกฤตการณ์โควิด-19 ระบาด ปีนี้เราเลยจัดแบบ NEW NORMAL ทุกคนที่ผ่านเข้ามาจะต้องผ่านจุดคัดกรอง ใส่หน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิ และเมื่อเข้ามาในห้องรับประทานอาหาร เราก็มีเจ้าหน้าที่คอยตักอาหารให้ โดยที่ทุกคนไม้องตักเอง ถ้าทานแล้วไม่อิ่ม ก็นำภาชนะเดิมมาเพิ่มเติมได้ เราเตรียมพร้อมทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ให้ทุกคนสามารถมาทานเจได้ ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย ก็ทานฟรี ไม่ต้องเสียเงิน และที่จัดอย่างยิ่งใหญ่อย่างนี้ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้ทุกคนรู้จักเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผา และได้เข้ามากราบไหว้บูชาเจ้าพ่อ-เจ้าแม่หน้าผาที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งได้ทานอาหารเจที่อร่อย มีคุณภาพ จนทุกคนที่มาทานต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อยมาก”


สำหรับความเป็นมาของศาลเจ้าหน้าผา มีประวัติว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2490 สองตายายซึ่งปลูกบ้านอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อจุ๊ยพ่อจุ๊ ได้ฝันเห็นเจ้าแม่มาบอกว่า ท่านอยู่ที่จังหวัดอยุธยาลอยทวนน้ำมาถึงหน้าผาเมืองปากน้ำโพ ถ้าอยากมั่งมีศรีสุขก็ให้เชิญขึ้นมาบนศาล เพื่อให้คนได้สักการะบูชา ครั้นตื่นขึ้นมาสองตายายก็พากันไปดูที่หน้าผา พบแผ่นไม้จันทร์ดำสลักรูปเจ้าแม่ลอยน้ำอยู่ริมฝั่ง จึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนศาลเจ้าร่วมกับเจ้าพ่อจุ๊ยพ่อจุ๊ จากนั้นสองตายายก็เริ่มมีฐานะดีขึ้น ประกอบกิจการใดก็มักจะประสบความสำเร็จ  ตั้งแต่แผ่นไม้สลักรูปเจ้าแม่ขึ้นประดิษฐานในศาล ก็มีชาวเรือชาวแพตลอดจนชาวจีนในตลาดศรัทธาในความศักดิ์สิทธ์ขององค์เจ้าแม่ ก็พากันมากราบไหว้บูชา 



จนถึงปีมะโรง  พ.ศ. 2495 นายฮวงโพ้ว แซ่ไน้ หรือที่ชาวตลาดมักเรียกว่า อั่งผี่หลงจู้ ได้ศรัทธาจัดสร้าง กอมซิง เป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองทรงเครื่องแต่งกายอย่างจีน มือขวาถือไม้เท้าแทนแผ่นไม้จันทร์แกะสลัก โดยจัดสร้างจากวัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) ให้อั่งเต่าซ้งเหล่าซือโรงเจจี้แซเป็นผู้เบิกเนตร (ไคกวง) และนำมาประดิษฐานคู่กับรูปเคารพเดิมที่เก็บจากแม่น้ำ ช่วงเวลานั้นเจ้าแม่ได้ไปเข้าฝันเถ้าแก่เซ่งหมง ว่าถ้าอยากร่ำรวยเงินทองก็ให้มาสร้างศาลให้ใหม่  เถ้าแก่เซ่งหมงก็รับดำเนินการสร้างศาลเจ้า โดยขอซื้อที่ดินที่ติดกับศาลเดิมจากนางยวงซึ่งต้องย้ายตามบุตรไปอยู่ที่อื่น  เถ้าแก่เซ่งหมงได้รวบรวมเงินจากชาวจีนในตลาดมาสร้างศาลเจ้าเป็นอาคารปูน ศิลปะจีนติดถนนโกสีย์   ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณปีเศษ ภายในศาลเจ้าประดิษฐานเจ้าแม่หน้าผา หรือคนจีนเรียก ปึงเถ่าม่า” เป็นเทพประทาน   เบื้องซ้ายประดิษฐานเจ้าพ่อกวนอู (เทพกวนเสี่ยตี้กุง)   เบื้องขวาประดิษฐานเจ้าแม่สวรรค์ (เทพเทียนโหวเซี้ยบ้อ)  และได้อัญเชิญรูเคารพเจ้าพ่อจุ้ยพ่อจุ๊มาประดิษฐานในศาลด้วย  ภายหลังได้เพิ่มเทพเจ้าแห่งโชคลาภไฉ่สิ่งเอี้ย  คู่กับเจ้าพ่อจุ้ยพ่อจุ๊     ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งมูลนิธิฯจึงได้มีการย้ายที่ตั้งศาลเจ้ามาก่อสร้างตรงตำแหน่งปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.2535 โดยมีอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ เป็นผู้ให้คำแนะนำการก่อสร้าง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28  "สรวงศ์" รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเ...