“บิ๊กป้อม” พบผู้ประกอบการ ในงาน “น้ำบาดาลเพิ่มมูลค่า พัฒนาเศรษฐกิจไทย” ชู “น้ำบาดาล” เป็นแหล่งน้ำต้นทุนขับเคลื่อนการผลิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม พร้อมหนุนสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมสร้างภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาล ภายใต้แนวคิด “น้ำบาดาลเพิ่มมูลค่า พัฒนาเศรษฐกิจไทย” โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำบาดาลในกระบวนการผลิต มาร่วมให้การต้อนรับ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการใช้น้ำบาดาลในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม อาหารและยา ฟอกย้อม สิ่งทอ ฟอกหนัง กระดาษ ยางรถยนต์ งานอิเล็กทรอนิกส์ ห้องเย็น ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบ และอื่นๆ
และมีแนวโน้มการใช้น้ำบาดาลเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเฉพาะน้ำบาดาลที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนการผลิตของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในระดับความลึกมากกว่า 600-1,000 เมตรขึ้นไป ที่มีศักยภาพสูงและคุณภาพดี รวมถึงการขยายพื้นที่สำรวจหาแหล่งน้ำบาดาล บนเกาะต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ช่วยสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการ
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้น้ำบาดาลในภาคธุรกิจมีจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาลตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 จึงได้จัดการประชุมสร้างภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาล ภายใต้แนวคิด “น้ำบาดาลเพิ่มมูลค่า พัฒนาเศรษฐกิจไทย” ครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความมั่นใจในการใช้น้ำบาดาลอย่างมั่นคงและยั่งยืน เสริมสร้างองค์ความรู้ ด้านการประกอบกิจการน้ำบาดาล สร้างความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำบาดาลในกระบวนการผลิต รวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 ราย ร่วมประชุมสร้างภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาล
โดยในภาคเช้ามีการเสวนา เรื่อง “น้ำบาดาลเพิ่มมูลค่า พัฒนาเศรษฐกิจไทย” ได้รับเกียรติจากวิทยากร จำนวน 4 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธันยพัฒน์ มั่นณิชนันทน์ รองประธานคณะกรรมการสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.ศรัณยู อินทาทอง ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดวิวัลก้า และผู้จัดการโรงงานบริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด โดยมีนางสาวชุติมา พึ่งความสุข ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ส่วนในภาคบ่ายมีการบรรยายอีก 2 หัวข้อ ดังนี้ “การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520” โดย ดร.รวมทรัพย์ คะเนะดะ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมกิจการน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ “ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) สำหรับการประกอบกิจการน้ำบาดาล” โดย นายสุชาติ ชินวรรณโชติ นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ส่วนนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีบ่อน้ำบาดาลมากกว่า 200,000 บ่อ แบ่งเป็น บ่อราชการ จำนวน 82,000 บ่อ และบ่อเอกชน จำนวน 120,000 บ่อ มีปริมาณการใช้น้ำบาดาลปีละกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนบ่อน้ำบาดาลที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพื่อใช้ประกอบกิจการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีมากกว่า 31,000 บ่อ มีสัดส่วนการใช้น้ำบาดาลปีละกว่า 380 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ค่าใช้น้ำบาดาลปีละกว่า 1,680 ล้านบาท ซึ่งน้ำบาดาลถูกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีการใช้น้ำบาดาลเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมาก อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ กระดาษ ปูนซีเมนต์ ที่พักแรม และอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ ในปี 2564 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจากภาคธุรกิจที่มีการใช้น้ำบาดาลมีมูลค่าถึง 7.6 ล้านล้านบาท (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศมีมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลทุกท่าน จึงเปรียบเสมือนลูกค้าของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เนื่องจากเป็นผู้ขออนุญาตใช้น้ำบาดาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีการชำระค่าใช้น้ำบาดาล รวมถึงค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล (กรณีเป็นผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาลที่อยู่ในพื้นที่เขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม) เพื่อส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดินที่สามารถนำไปพัฒนาประเทศต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น