วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566

ททท.แม่ฮ่องสอน เชิญชวนร่วมงานบวชลูกแก้ว หนึ่งเดียวในโลก "ประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2566"

ททท.แม่ฮ่องสอน เชิญชวนร่วมงานบวชลูกแก้ว หนึ่งเดียวในโลก "ประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2566"

          ประเพณีปอยส่างลอง เป็นมนต์เสน่ห์หนึ่งในงานประจำปีเลื่องชื่อของชาวไทใหญ่แห่งเมืองสายหมอก ซึ่งนอกจากจะมากไปด้วยสีสันงดงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นงานบุญที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธาอันทรงคุณค่า และได้ขยายไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ อาทิ จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนนับเป็นต้นแบบของการจัดประเพณีปอยส่างลองของประเทศไทย

            ประเพณีปอยส่างลอง คือการบวชลูกแก้ว หรือบรรพชาสามเณรในช่วงฤดูร้อน จะจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ทุกปี ระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงว่างเว้นจากการทำนา และมึความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของอาหาร และเป็นช่วงที่เด็ก ๆ เยาวชนปิดเทอม เพื่อให้บุตรหลานได้ศึกษาเรียนรู้พระธรรม รวมทั้งได้เจริญจิตภาวนา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การได้บวชส่างลอง เป็นความเชื่อของชาวไทใหญ่ ที่ได้ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งมีความเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงสุด จนกลายเป็นหนึ่งในประเพณีที่ทรงคุณค่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือคติในการบวชเณรที่จำลองแบบมาจากพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกผนวช จึงต้องแต่งกายส่างลองกันให้สง่างาม ตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณ นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อมีชายเชิงงอนปักดิ้นไหม ประดับด้วยเพชรนิลจินดา ทั้งสร้อย กำไล และแหวน ศรีษะโพกด้วยผ้าแพรและประดัฐด้วยดอกไม้ มีคนคอยกางร่มทองคำกันแดด มีพี่เลี้ยงส่วนตัวคอยดูแลส่างลองอย่างใกล้ชิด 

ซึ่งจัดงานเป็นประจำทุกปีแสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนาของชุมชนท้องถิ่นชาวไทยใหญ่ ตลอดจนเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามที่เป็นเอกลักษ์ให้คงอยู่สืบไป โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง (แห่ครัวหลู่) นับได้ว่ามีความสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไทยใหญ่ หรือชาวไต อย่างแท้จริง ซึ่งมีพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ทำให้ประเพณีปอยส่างลองได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมกับการร่วมทำบุญสืบสานงานประเพณีดังกล่าวด้วย โดยในปี 2566 นี้ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีกำหนดจัดงานประเพณีปอยส่างลองในหลายพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนี้

          วันแรก เรียกว่า "วันรับส่างลอง" ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลองด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่างๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่นๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการ เขียนคิ้ว ทาปาก  สีแดง  และสวมถุงเท้าสีขาว  ถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว พระสงฆ์ให้ศีลให้พรอบรมสั่งสอน จากนั้น “ตะแป ส่างลอง” หรือผู้ให้ขี่คอ นำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ในขบวนจะมี “ทีคำ” หรือร่มทองคำกางกั้นบังแดดให้ส่างลอง

            วันที่ 2 เรียกว่า "วันแห่ครัวหลู่" เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดปางล้อไปตามถนนสายต่างๆ ในช่วงเช้ามีผู้มีจิตศรัทธาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กเข้าแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า “#ตะแปส่างลอง” มีกลดทองหรือ “#ทีคำ” แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นมีการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไตที่วัดต่างๆ

            วันที่ 3  เรียกว่า "วันข่ามส่าง" หรือ "วันหลู่" เป็นวันบรรพชาสามเณรและถวายเครื่องไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงอาหารไต แก่ผู้ที่มาร่วมงาน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

            โดยมีกำหนดจัดงานประเพณีปอยส่างลองในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนดังนี้

อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน วันแห่คัวหลู่  

วันที่ 22-25 มีนาคม 2566 ณ วัดแม่สะกึ๊ด (วันที่ 24 มีนาคม เวลา 07.00 น.)

วันที่ 26-31 มีนาคม 2566 ณ วัดนาป่าแปก ( วันที่ 30 มีนาคม เวลา 07.00 น.)

วันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 ณ วัดปางล้อ ( วันที่ 4 เมษายน เวลา 07.00 น.)

วันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 ณ วัดห้วยขาน (วันที่ 4 เมษายน เวลา 07.00 น.)

วันที่ 22-24 เมษายน 2566 ณ วัดในสอย (วันที่ 23 เมษายน เวลา 07.00 น.)

อำเภอปาย วันแห่คัวหลู่

วันที่ 3 – 5 เมษายน 2566 ณ วัดป่าขาม (วันที่  4 เมษายน เวลา 16.00 น.)

วันที่ 5 – 7 เมษายน 2566 ณ วัดแม่นาเติงใน (วันที่  6 เมษายน เวลา 16.00 น.)

วันที่ 29 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2566 ณ วัดม่วงสร้อย (วันที่  1 พฤษภาคม เวลา 16.00 น.)

อำเภอแม่สะเรียง วันแห่คัวหลู่

วันที่  2 – 4 เมษายน 2566 ณ วัดศรีบุญเรือง (วันที่  3 เมษายน เวลา 16.00 น.)

วันที่  7 – 9 เมษายน 2566 ณ วัดสุพรรณรังษี (วันที่  8 เมษายน เวลา 16.00 น.) อำเภอปางมะผ้า วันแห่คัวหลู่

วันที่ 20-22 มีนาคม 2566 ณ วัดแม่ละนา (วันที่  21 มีนาคม เวลา 07.00 น.)

วันที่ 25-28 มีนาคม 2566 ณ สำนักสงฆ์ถ้ำพญางู (วันที่  27 มีนาคม เวลา 07.00 น.)

อำเภอขุนยวม วันแห่คัวหลู่

วันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2566 ณ วัดต่อแพ (วันที่  31 มีนาคม เวลา 15.00 น.)

วันที่ 3-5 เมษายน 2566 ณ วัดคำใน (วันที่  4 เมษายน เวลา 15.00 น.)

อำเภอแม่ลาน้อย วันแห่คัวหลู่

วันที่ 5 – 8 เมษายน 2566 ณ วัดดอยแก้ว (วันที่  7 เมษายน เวลา 16.00 น.)

         การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน นำโดยว่าที่ร้อยตรี ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ขอเชิญนักท่องเที่ยวทั่วประเทศมาร่วมชื่นชมความสวยงามของวัฒนธรรมชาวไทยใหญ่และขบวนแห่ส่างลองอันยิ่งใหญ่ตระการตาในงานประเพณีปอยส่างลอง ประจำปี 2566 ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เลขที่ 4 ถนนราชธรรมพิทักษ์ ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000 โทรศัพท์ 0 5361 2982 - 3 โทรสาร 0 5361 2984 ในวันเวลาราชการ อีเมล์ tatmhs@tat.or.th Facebook : ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน (TAT Maehongson)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28  "สรวงศ์" รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเ...