วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ชวนเที่ยวงาน "SME FESTIVAL NAKORNPATHOM 2023" ชม ชิม ช้อป ของดี ของเด่น ของดัง 7 อำเภอนครปฐม จัดโดยสมาพันธ์ เอส เอ็ม อี ไทย ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม นั่งรถรางชมสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบองค์พระปฐมเจดีย์

ชวนเที่ยวงาน "SME FESTIVAL NAKORNPATHOM 2023"

ชม ชิม ช้อป ของดี ของเด่น ของดัง 7 อำเภอนครปฐม
จัดโดยสมาพันธ์ เอส เอ็ม อี ไทย ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม 
นั่งรถรางชมสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบองค์พระปฐมเจดีย์



         คณะของเราพร้อมลงทะเบียน ออกเดินทาง ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ชานชาลาที่ 4 โดยรถไฟขบวนที่ 261 (หัวลำโพง - นครปฐม) ไปนครปฐม โดยสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) นำโดยนายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายก สธทท. และบริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ เป็นผู้ดำเนินงาน




          เมื่อถึงสถานีรถไฟนครปฐม จังหวัดนครปฐม คณะของเราก็ได้รับการกล่าวต้อนรับจาก พี่จิ๋ม-วรินทร ทองพูน ที่ปรึกษาสมาพันธ์ SME นครปฐม - ประธานที่ปรึกษา สธทท. และ
นายวชิระวัจน์ รุจิวรพัฒน์ รองประธานฝ่ายท่องเที่ยวสมาพันธ์ SME นครปฐม ท่าด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่น ท่ามกลางเสียงเป่าเพลงแซกโซโฟนอันไพเราะ

           จากนั้นคณะของเราก็เดินทางโดยรถราง โดยมีอาจารย์ สุนัน ธัชช้ย เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตลอดเสันทางการเดินทาง โดยแวะจอดจุดแรกคือ "วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร" เพื่อสักการะ "องค์พระปฐมเจดีย์" ซึ่งเป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย  พระปฐมเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยขณะทรงผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งเป็นพระสถูปโบราณทรงบาตรคว่ำแบบเจดีย์อินเดีย มียอดปรางค์สูง 84 เมตร สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 4 เมื่อทรงลาผนวช และเสวยราชสมบัติราวปี พ.ศ. 2396 โปรดฯ ให้ก่อพระเจดีย์ใหม่หุ้มองค์เดิมไว้ พร้อมสร้างวิหารคดและระเบียงโดยรอบ แต่งานก่อสร้างไม่ทันแล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคต การก่อสร้างพระเจดีย์ครอบองค์ใหม่แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2413 รวมเวลาก่อสร้าง 17 ปี พระเจดีย์องค์ใหม่เป็นทรงระฆังคว่ำแบบลังกา มีความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ 120.5 เมตร ฐานเจดีย์วัดโดยรอบ 233 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบูรณะวัดให้สง่างามมากขึ้น มีการเขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนังของพระวิหารหลวง และรื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือให้เป็นที่ประดิษฐาน "พระร่วงโรจนฤทธิ์" เป็นพระพุทธรูปยืนประทานอภัย โดยได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย วัดนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 (ช่วงเดือนพฤศจิกายน) 




         หลังกราบสักการะขอพรองค์พระปฐมเจดีย์และพระร่วงโรจนฤทธิ์แล้ว ก็เดินเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระอุโบสถ ภายในเป็นที่เก็บโบราณวัตถุที่ขุดพบได้จากสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดนครปฐม ทั้งสมัยบ้านเชียง สมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป ธรรมจักรหิน หินบดยา ลูกประคำดินเผา กำไลข้อมือ เงินโบราณ ฯลฯ และเป็นที่เก็บหีบศพของย่าเหล และโต๊ะหมู่บูชาที่ใช้ในพิธีศพของย่าเหล พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ โทร. 034-242-143




             หลังเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์องค์พระปฐมเจดีย์ ก็เดินทางไปเที่ยวชมงาน "SME FESTIVAL NAKORNPATHOM 2023" ณ บริเวณหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งจัดงานมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการเพิ่มยอดขาย และกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดนครปฐม และพร้อมทั้งสร้างความภูมิใจให้คนรุ่นใหม่ในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นต่อไป โดยคณะของเราเดินภายในงาน ก็จะพบกับบู้ทแสดงและจำหน่ายสินค้า สินค้า OTOP และของกิน ของใช้ในครัวเรือนของแต่ละอำเภอ คณะของเรา ทั้งกินทั้งช้อปของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน รวมทั้งมีกิจกรรมสันทนาการ และยังมีกิจกรรมที่หลากหลายที่สร้างการรับรู้ในสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ เป็นการสร้างความสัมพันธภาพ มีเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมประกวดคลิปวีดีโอ ทำคอนเท้นท์ ชิงรางวัล และมีกิจกรรมที่สนุกสนานน่าสนใจอีกหลายอย่าง




         ตกบ่ายคณะของเราก็นั่งรถรางไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ไม่ว่าจะเป็น "พระราชวังสนามจันทร์" ซึ่งในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะที่ดำรงพระราชอิสริยยศยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้ทรงรับพระราชภาระจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่าให้ปูกระเบื้องประดับองค์พระปฐมเจดีย์ ทำให้ทรงมีความคุ้นเคยกับบริเวณแถวนี้ และทรงตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของเมืองนครปฐม พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับในการแปรพระราชฐานมายังเมืองนครปฐมแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขอซื้อที่ดินจากราษฎร เพื่อจัดสร้างพระราชวัง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง โดยพระราซทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า "พระราชวังสนามจันทร์ "
ภายในพื้นที่พระราชวังสนามจันทร์ประกอบด้วยพระตำหนัก, พระที่นั่ง, และสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์, พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์, พระตำหนักทับขวัญ, พระตำหนักทับแก้ว, พระที่นั่งพิมานปฐม, พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี, พระที่นั่งวัชรีรมยา, พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นต้น



        หลังชมพระราชวังสนามจันทร์โดยรอบแล้ว ก็กราบสักการะ "เทวาลัยคเณศร์" (ศาลพระพิฆเนศวร) ซึ่งมีพุทธลักษณะเป็นองค์สีดำเนื้อสำริด ประทับในท่านั่งสมาธิราบ มี 2 พระกร ทรงบ่วงบาศ สวมเทริดหรือชฎาทรงเตี้ย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นศาลเทพารักษ์ ตั้งอยู่บริเวณจุดศูนย์กลางของพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระพิฆเนศ เจ้าแห่งศิลปวิทยาการ การประพันธ์ เพื่อบวงสรวงและความเป็นสิริมงคลแห่งพระราชวังสนามจันทร์ ปัจจุบันเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวังแห่งนี้ และมีความพิเศษคือเราจะสามารถมองเทวาลัย พระปฐมเจดีย์ และพระที่นั่งพิมานปฐม ในเส้นแนวตรงเดียวกัน ถ้ามองลอดผ่านฐานพระพิฆเนศ จะเห็นพระปฐมเจดีย์ หรือพระที่นั่งได้อย่างงดงาม 



         ต่อด้วยการสักการะ "พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" เป็นพระบรมรูปหล่อขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริงในพระอิริยาบถประทับนั่งบนเก้าอี้สนาม พระหัตถ์ขวาทรงปากกา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดสำหรับจดบันทึกการซ้อมรบเสือป่า ฉลองพระองค์เสือป่าราบหลวงอย่างเก่าแบบทรงม้า ด้วยฝีมือการออกแบบและปั้นหล่อของช่างจากกรมศิลปากร โดยชาวนครปฐมต่างพร้อมใจกันจัดสร้างพระบราราชานุสาวรีย์เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน



            จากนั้นชมอนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นรูปหล่อด้วยโลหะขนาดเท่าตัวจริงของสุนัข ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทาง ขนยาวปุกปุย หางเป็นพวง สีขาวด่างดำ หูตก เกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม เป็นสุนัขของหลวงชัยอาญา (โพธิ์ เคหะนันท์) ซึ่งเป็นพะทำมะรง (ผู้ควบคุมนักโทษ) พระองค์ทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จฯ ตรวจเรือนจำ ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงนำย่าเหลมาเลี้ยงไว้ ด้วยความที่ย่าเหลเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาดและจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านจนเป็นที่โปรดปราน เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาและลอบยิงย่าเหลตายในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโศกเศร้าอาลัยย่าเหลมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดงตั้งไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และทรงพระราชนิพนธ์กลอนไว้อาลัยย่าเหล ติดไว้ที่แท่นใต้รูปหล่อนั้นด้วย





              ตามด้วยการชมพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลไทย "พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม" ดำเนินการจัดตั้งโดยสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมกีฬาลูกหนังของชาติไทย  ภายในพิพิธภัณฑ์จะนำเสนอเรื่องราววิวัฒนาการกีฬาฟุตบอลในลประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา โดยจะแบ่งเป็นห้องๆ ห้องโถงกลาง จัดแสดงเรื่อง "ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม" (พ.ศ.2443 - 2475) ห้องโถงด้านหลัง จัดแสดงเรื่อง "พระผู้พระราชทานกำเนิดฟุตบอลสยาม" ห้องโถงด้านซ้าย จัดแสดงเรื่อง "ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลไทย" (พ.ศ. 2500 - 2520) รวบรวมสิ่งของทรงคุณค่าของทีมชาติไทย อาทิ กระเป๋า เสื้อเบลเซอร์ และบัตรประจำตัวนักฟุตบอลโอลิมปิค, บันทึกต้นฉบับพิมพ์ดีดของวิวัฒน์ มิลินทจินดา หัวหน้าทีมชาติไทยชุดเมลเบิร์น, ธงตราสัญลักษณ์โอลิมปิค พร้อมลายมือชื่อนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดเม็กซิโก, เสื้อทีมชาติไทยชุดโอลิมปิค เม็กซิโก, เสื้อแข่งขันดาราเอเชียทีมชาติไทย เป็นต้น




              ชมความเป็นมาประวัติฟุตบอลจนจุใจ ก็เดินทางต่อไปยัง "วัดไผ่ล้อม" วัดพัฒนาตัวอย่่างของตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง วัดแห่งนี้สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยพระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ได้เกณฑ์ชาวมอญที่ได้อาศัยอยู่ใต้โพธิสมภารมาช่วยกันบูรณองค์พระปฐมเจดีย์ และชาวมอญเหล่านี้ได้มาพักอาศัยอยู่ ณ บริเวณสวนป่าไผ่ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์ ในกาลต่อมาที่บริเวณนี้ก็ร้างผู้คน ดงไผ่ขึ้นหนาทึบกลายเป็นที่สงบ ร่มเย็น พระภิกษผู้แสวงหาธรรมหลายรูปต่างจาริกมาวิเวก ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรม ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเห็นว่า สถานที่บริเวณนี้สมควรตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จึงได้อาราธนาพระภิกษุจากวัดพระปฐมเจดีย์มาจำพรรษาเป็นครั้งคราว เมื่อมีภิกษุมาจำพรรษามากขึ้น ผู้คนก็มาอยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้ป่าไผ่ที่เคยหนาทึบได้ถูกชาวบ้านหักล้างถางพงจนหมด เพื่อไปทำที่อยู่อาศัย จะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็บริเวณรอบๆ วัดเท่านั้น จึงกลายเป็นที่มาของชื่อวัดว่า "วัดไผ่ล้อม"
 



ต่อมาวัดไผ่ล้อมแห่งนี้ร้างขาดเจ้าอาวาสอยู่นาน กระทั่งปี พ.ศ. 2486 ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระมงคลสิทธิการ (พูล อตฺตรกฺโข) ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่วัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ตอนนั้นที่วัดยังไม่มีอุโบสถไว้ประกอบสังฆกรรม พระอาจารย์พูลจึงปรึกษากับพระเถระผู้ใหญ่ และญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างอุโบสถขึ้น โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2490 และแล้วเสร็จในอีก 3 ปีต่อมา และยังได้ดำเนินการสร้างเสนาสนะ ทำให้วัดไผ่ล้อมแห่งนี้มีความเจริญทางถาวรวัตถุขึ้น อาทิ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม ศาลาฌาปนสถาน ศาลาปฏิบัติ หอระฆัง กุฏิสงฆ์ โรงเรียนวัดไผ่ล้อม เป็นต้น วัดไผ่ล้อมเป็นวัดที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก





           เมื่อมาถึงคณะของเราได้เข้าพบ "พระครูปลัดสิทธิวัฒน์" หรือ "หลวงพี่น้ำฝน" เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ท่านได้บรรยายธรรมและให้พรแก่คณะของเรา ก่อนมอบเหรียญท้าวเวสสุวรรณ เพื่อเป็นสิริมงคลและป้องกันภยันตรายอีกด้วย จากนั้นคณะของเราก็กราบสักการะสรีระสังขาร "พระมงคลสิทธิการ" (พูล อตฺตรกฺโข) หรือที่คนรู้จักในนาม "หลวงพ่อพูล" ที่ละสังขารนานแล้ว แต่ร่างกายยังไม่เน่าไม่เปื่อย ในโลงแก้วที่วางอยู่บนมือรูปเหมือนหลวงพ่อพูลองค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง  5 เมตร นั่งบนหนุมานในศาลากรุวิมานุสรณ์ รวมทั้งกราบสักการะ "กุมารทองสมบัติ" เล่ากันว่าเป็นกุมารทองที่อยู่กับหลวงพ่อพูลมาตั้งแต่สมัยที่ท่านยังหนุ่ม ตั้งแต่ที่ท่านเดินทางไปเป็นพระคู่สวดที่สุพรรณบุรีพร้อมกับหลวงพ่อเต้าและหลวงพ่อล้ง ในครั้งนั้นหลวงพ่อพูลได้กุมารทองกลับมาด้วย เป็นกุมารทองขนาดใหญ่ เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ ฐานกว้าง 9 นิ้ว สูง 15 นิ้ว ท่านจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่กุฏิของท่าน และตั้งชื่อให้ว่า “กุมารทองสมบัติ” โดยกุมารทองนี้ได้รับการเลื่องลือในเรื่องของโชคลาภ ธุรกิจค้าขาย จึงทำให้มีผู้คนแวะเวียนกันมาไหว้ทุกวัน 




และยังมี "พระพุทธเมตตาปางประทานพร" สีทององค์ใหญ่ เปล่งประกายรัศมีงดงาม นอกจากนี้ยังมี" องค์พระองคุลีมารเถระ" องค์ใหญ่ ที่ลีลาท่าทางดูน่าเกรงขาม ทำให้เกรงกลัวต่อบาป, "เจ้าแม่กวนอิมพันกร" ที่แกะสลักจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมี "พระพิฆเณศวร" มหาเทพแห่งความสำเร็จ เทพแห่งชัยชนะ เจ้าแห่งสติปัญญา ที่แกะจากไม้ตะเคียนศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ มีเศียรเป็นช้าง มีพระกรรณกว้างใหญ่ มีงายาว แต่ทรงมีร่างกายเป็นมนุษย์ มี 4 กร มีมนต์ขลังพลังอำนาจยิ่งใหญ่ ผู้คนจึงนิยมมากราบไหว้บูชา




         แล้วก็ได้เวลาอำลาจังหวัดนครปฐม เดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานครโดยสวัสดิภาพด้วยรถไฟ (นครปฐม - หัวลำโพง) ขบวนที่ 262
#สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.)
#บริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จำกัด
#สมาพันธ์ เอส เอ็ม อี ไทย
#จังหวัดนครปฐม
#SME FESTIVAL NAKORNPATHOM 2023
#การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28

เปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28  "สรวงศ์" รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเ...